ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

รู้จัก สมรสเท่าเทียม เหตุใดจึงผ่านยากเย็น อีกไกลแค่ไหนกว่าจะใช้ได้จริง

สรุปให้ฟัง สมรสเท่าเทียมคืออะไร หลังแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียมเท่านั้น พุ่งทะยานติดเทรนด์ ชาวเน็ตร่วมจับตาสมรสเท่าเทียม วาระ 2 เข้าสภาวันนี้

23 – 24 พฤศจิกายนนี้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เตรียมเข้าสู่สภาวาระที่ 2 ซึ่งเป้นที่น่าจับตาว่า พ.ร.บ. นี้จะผ่านหรือไม่ในครั้งนี้ โดยขาวเน็ตได้ร่วมกันเทรนด์แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียมเท่านั้น จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย

หลังจากที่สภามีมติรับร่างสมรสเท่าเทียมวาระแรกไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เสนอโดยพรรคก้าวไกล และได้สร้างความยินดีให้กับชาว LGBTQIA+ ไม่น้อย จนแฮชแท็ก #สสเท่เทียม พุ่งทะยานติดเทรนด์ประเทศไทย โดยมีกว่าหนึ่งล้านทวีตที่กล่าวถึงเรื่องนี้

ท่ามกลางความใจชื้น แต่ก็มีบางเสียงที่ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม จึงผ่านยากเย็น เพราะใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพียงต้องการให้คู่รักเพศต่าง ๆ ได้มีสิทธิ์เท่าเทียมคู่รักชาย-หญิงเพียงเท่านั้น

สมรสเท่าเทียม คืออะไร

วันนี้ The Thaiger จึงขอมาแตกประเด็นให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันอีกสักรอบว่า สมรสเท่าเทียม คืออะไร มีรายละเอียดและมอบสิทธิให้แก่คู่รักชาว LGBTQIA+ อย่างไรบ้าง รวมถึงเส้นทางการเดินทางของกฎหมายฉบับนี้ว่า อีกกี่ขั้นตอนจึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ มาติดตามไปพร้อมกันได้เลยค่ะ

รู้จัก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คืออะไรกันแน่

สมรสเท่าเทียม คือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สมรสเท่าเทียม หรือ ร่างแก้ ป.พ.พ. ที่ยืนอยู่บนแนวคิดการเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องการสมรสของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ในสังคมไทย

หลักการคือให้บุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยร่างกฎหมายฉบับที่นำเข้าวาระการประชุมนี้ นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยมีรายละเอียดสรุปเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

– สามารถหมั้นและสมรสกันได้ทุกเพศ สถานะทางกฎหมายของบุคคลทั้งสองฝ่ายที่สมรสกัน จะถูกเรียกว่า คู่สมรส

– อนุญาตให้หมั้นได้ โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์

– สามารถจดทะเบียนสมรสได้ โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หากมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่

– สามารถจดทะเบียนกับชาวต่างชาติได้

– การมอบของหมั้น ฝ่ายผู้หมั้นจะมอบให้แก่ผู้รับหมั้น หรือทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนของหมั้นกันได้

– การมอบสินสอด ฝ่ายผู้หมั้นมอบให้แก่บิดามารดาของผู้รับหมั้น หรือสามารถมอบให้แก่บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้

– สามารถใช้นามสกุลร่วมกันได้

– สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

– สามารถรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายได้

– สามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

– การเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายของคู่สมรส จะได้กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ เช่น สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล, การรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม

– สามารถอุ้มบุญได้

– สามารถเซ็นอนุญาตรักษาพยาบาลอีกฝ่ายได้

– สามารถจัดการศพของอีกฝ่ายได้

สมรสเท่าเทียม คืออะไร

ขั้นตอนสู่การประกาศใช้กฎหมาย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างหลักการ จากจำนวนผู้ลงมติ 406 คน มีผู้เห็นด้วยจำนวน 210 คน ไม่เห็นด้วย 180 คน งดออกเสียง 12 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 4 คน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นก้าวที่ทำให้มีความหวังว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIA+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและเปิดกว้างมากขึ้น

ล่าสุดการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2565 ทำให้ผู้คนในสังคม รวมถึงพี่น้องชาว LGBTQIA+ ต่างก็จับตามองว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะได้นำเข้าสภาและลงมติเพื่อไปขั้นตอนต่อไปหรือไม่

แต่นี่ก็เป็นเพียงอีกก้าวเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะกว่าที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายสักหนึ่งฉบับ จะต้องมีการผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

1. สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับร่างหลักการ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

2. จากนั้นจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

3. ลำดับต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบ หากผลโหวตออกมาว่าไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะตกไป

4. หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ

สมรสเท่าเทียมวาระ 2

5. จากนั้นจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

6. สมาชิกวุฒิสภาจะลงมติ หากเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ

*กรณีสมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ จะมีการส่งคืนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยับยั้งไว้ 180 วัน หากเห็นชอบอีกครั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็จะถูกนำส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่ชอบก็จะตกไป

7. หากร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ จะมีการส่งให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย

8. ลำดับสุดท้ายคือออกประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สมรสเท่าเทียม คืออะไร
ภาพจาก Amnesty Thailand

แม้จะเป็นเส้นทางที่ถือว่ายาวไกลก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่เชื่อว่าสังคมไทยแห่งความเท่าเทียม ย่อมมาถึงในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน และในภายในวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน พี่น้องประชาชนน่าจะได้ทราบกันแล้วว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้าใกล้ความจริง หรือเป็นเพียงเรื่องที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มากันต่อไป

สมรสเท่าเทียมวาระ 2 สรุป

ขอบคุณข้อมูลจาก (1) (2)

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ที่สนใจการรีวิวเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาย Lifestyle หรือคอนเทนต์ออนไลน์อื่น ๆ เขียนเล่าเรื่องได้ตั้งแต่ภายในหนึ่งบรรทัดไปจนถึงหน้ากระดาษ โดยเล่าผ่านมุมมองที่น่าสนใจที่คนมักจะมองข้ามไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x