ประมวลข่าวการเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มี.ค. ปชช.แห่ใช้สิทธิคับคั่ง-ปัญหาที่พบเจอ

ประมวลเรื่องราวการเลือกตั้งนอกเขต,ล่วงหน้า 17 มี.ค. ปปช.แห่ใช้สิทธิ์คับคั่ง-ปัญหาที่พบเจอ [เลือกตั้ง 62]
เลือกตั้งล่วงหน้า 17 มีนา เลือกตั้ง 62 -วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประชาชนชาวไทยในการทำหน้าที่พลเมืองของประเทศ วันที่ 17 มีนาคม 2562 กกต. จัดให้ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้า มาใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนเข้าสภา ก่อนจะถึงวันจริง 24 มีนาคม 2562
จากการรายงานจากหน่วยเลือกตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ พบว่า มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงกันเป็นจำนวนมาก ฝ่ารถติดและอากาศร้อน บางพื้นที่อย่างเช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ประชาชนที่อายุถึงเกณฑ์เลือกตั้ง วัยรุ่น ผู้ใหญ่ วัยชราต้องสวมหน้ากากอนามัยฝ่าฝุ่นละอองเข้าคูหาก็ไม่หวั่น เพื่อแสดงพลังเลือกพรรคที่ตนอยากให้เข้ามาพัฒนาประเทศ
นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยในรอบกว่า 8 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนานกว่า 5 ปี
การเฝ้ารอคอยให้สิทธิ์เสียงของตนได้เปล่งออกมาผ่านการเลือกผู้แทนนี่เอง ทำให้ประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างแข็งขัน เช่นที่เขตบางกะปิ มีประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 6 หมื่นคน หรือเขตห้วยขวางที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นพื้นที่ที่มีผู้ที่ลงทะเบียนจำนวนมากถึง 40,816 คน นับเป็นอันดับที่ 3 ของเขตเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร
ทำให้การเลือกตั้งตั้งแต่ช่วงเช้าการจราจรโดยรอบติดขัด แต่ประชาชนก็ไม่หวั่น หรือในเขตบางซื่อ ถึงขนาดต้องลงเดินเข้าคูหาเพราะรถติดหนัก
ที่น่าชื่นชมคือเขตเลือกตั้งจ.ร้อยเอ็ด พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าตามที่ลงทะเบียนไว้ครบ 100% ขณะที่ในอีกหลายจังหวัดก็มีผู้มาใช้สิทธิ์ตามที่ลงทะเบียนไว้ในจำนวนที่น่าพอใจ เช่น จ.ขอนแก่นมีผู้มาใช้สิทธิ์ 90% จ.ภูเก็ตคาดว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ล่วงหน้า 80%
นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง เช่น “เฌอปราง BNK48” แม้งานจะรัดตัวแค่ไหน ถึงวัยมีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ได้เดินทางมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตบางแค
ภาพ : sanook.com
ภาพ : THE STANDARD
“นก สินจัย เปล่งพานิช” นักแสดงหญิงมากฝีมือซึ่งเคยเข้าร่วมขบวนต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรมรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็มาทำหน้าที่พลเมืองไทยเลือกผู้แทนในครั้งนี้ด้วย บอกอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า ใช้สติปัญญาเลือกสิ่งที่ดีที่สุด
ภาพ : khaosod.co.th
แม้กระทั่ง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานองคมนตรี วัย 98 ปี ก็มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แม้ว่าจะต้องใส่เครื่องออกซิเจนก็ตาม เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่และประชาชนได้เป็นอย่างดีว่า “อย่านอนหลับทับสิทธิ์”
ภาพ : PPTV HD 36
“มากที่สุด” ของวันนี้เห็นจะเป็นอายุของคุณยายชาว จ. ยะลา ที่แม้จะอายุถึง 100 ปี แต่ก็มาเลือกตั้งไม่ขาด โดยคุณยายมาเลือกตั้งล่วงหน้าที่ เขต 1ที่หอประชุมลำยอง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
ภาพ : Dailynews
แต่ที่พีคที่สุดสำหรับวันนี้ต้องยกให้กรณีของเขตบางขุนเทียน มติชนรายงาน “นายณัฏฐ์วัฒน์ ปู่แก้ว อายุ 43 ปี” ผู้ต้องหามีหมายจับ ปลอมตัวใส่วิกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่โดนจับได้ กระโดดน้ำหนีจมน้ำเสียชีวิต
อีกด้าน ที่มากมายไม่แพ้จำนวนประชาชนที่มาเลือกตั้ง คือ ปัญหาที่พบเจอระหว่างการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่มีให้เห็นตลอดทั้งวัน เช่น พื้นที่หน่วยเลือกตั้งไม่พอกับประชาชนจำนวนมากทำให้เกิดการแออัด รอนาน บวกกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้มีประชาชนเป็นลมหลายคน หรือที่ หน่วยเลือกตั้งอยุธยาเขต 1 เพจ CSI LA รายงานว่า กกต. อยุธยาเขต1 จัดเลือกตั้งที่เดียวกับวันเด็กสอบ พื้นที่จึงแออัดยัดเยียด โดนเปิดใช้ชั้น 2 ของโรงเรียนเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งจุดดังกว่ามีคนลงทะเบียนเลือกตั้งว่า 2 หมื่น 5 พันคน ทำให้หลายคนถอดใจกลับบ้านเสียก่อน
กรณีของประชาชนที่ได้รับบัตรเลือกตั้งผิดเขต ที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @JaruwanPumz บัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาผิดเขต เล่าประสบการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ได้ให้บัตรเลือกตั้งมาผิดเขต แต่กลับบอกว่า ให้ “กา ๆ ไปเลย” ต่อมา กกต ได้ชี้แจงว่า การกาบัตรเลือกตั้งผิดเขตถือเป็น “บัตรเสีย” เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดหมายเลขผู้สมัครต่างกันในแต่ละเขต ซึ่งประชาชนควรตรวจสอบและท้วงเจ้าหน้าที่หากพบปัญหาเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์
หรือกรณีของเขตเลือกตั้งบุรีรัมย์เขต 1 และ 2 ที่มีประชาชนรายงานว่า บัตรเลือกตั้งหมด
ภาพ : Bow Nuttaa Mahattana
อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดความกังวลในหมู่ประชาชน คือการเลือกตั้งครั้งนี้คือการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือลงบนบัตรเลือกตั้ง ซึ่ง เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ Thanawat Wonhchai ระบุว่า “เลือกตั้งรอบนี้ ไม่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือลงไปที่บัตรเลือกตั้ง” นำไปสู่การกำลังวลว่าบัตรอาจง่ายต่อการถูกสับเปลี่ยนหรือ ไม่ชัดเจนได้
บีบีซีไทย ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีนี้ว่า ในต้นขั้วของบัตรเลือกมีช่องให้พิมพ์ลายนิ้วมือหรือเซ็นชื่อ แต่ที่หน่วยเลือกตั้งไม่มีอุปกรณ์สำหรับพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ในบัตรเลือกตั้งไม่มีการประทับลายนิ้วมือดังกล่าว
การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันนี้เมื่อปิดการลงคะแนนแล้ว บัตรเลือกตั้งที่ถูกปิดผนึกใส่ซองจะถูกคัดแยกไปยังเขตต่าง ๆ ตามบัตร โดยไปรษณีย์ไทยเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่ง และจะเปิดนับรวมคะแนนในวันที่ 24 มี.ค. ทว่าปัญหาที่ประชาชนมีความสงสัยคือ ภาพที่ออกมาพบว่า มีการเปิดหีบนำซองบัตรเลือกตั้งออกมาคัดแยก ทำให้ประชาชนบางส่วนอาจเกิดความกังวลต่อกรณีดังกล่าว ซึ่ง กกต.ได้ชี้แจงว่าการเอาบัตรมามัดรวมกันเป็นวิธีปกติ หากขนทั้งหีบจะเสียเวลาและงบประมาณ (ปัจจุบันงบประมาณที่ กกต. ใช้จัดการเลือกตั้งสูงถึงประมาณ 5 พันล้านบาท)
ภาพ : THE STANDARD
อย่างไรก็ดี ที่ไปรษณีย์หลักสี่ได้จัดพื้นที่เพื่อคัดแยกบัตรเลือกตั้งตามแต่ละเขต และจะทำการคัดแยกกระจ่ายไปยัง 350 เขตทั่วประเทศ โดยจะเรียบร้อยภายในวันที่ 23 มี.ค. นี้โดยเมื่อส่งไปถึงแต่ละเขตแล้ว บัตรเลือกตั้งจะถูกนำไปจัดเก็บห้องขังในสถานีมีกล้องวงจรปิด คอยเฝ้าตลอด 24 ชม.
ภาพ : khaosod.co.th
จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งล่วงหน้า พอจะเป็นบทเรียนให้กับ กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เพื่อให้เกิดปัญหาซ้ำอีก แสดงให้หมดข้อครหาข้อสงสัยเคลือบแคลงของประชาชน แสดงให้เห็นถึงการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวประชาชนคนไทยทุกคน อย่านอนหลับทับสิทธิ์ เสียงของทุกคนมีค่า เข้าคูหากำหนดชะตาประเทศด้วยตัวเอง
ติดตาม The Thaiger บน Google News: